วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เกษตรผสมผสาน

เกษตรผสมผสาน 

ระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละ ชนิด เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซากและผลพลอยได้จากการปลูกพืชจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ ในทางตรงกันข้าม ผลที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพืชด้วยเช่นกัน (1)
หลักการของ "เกษตรผสมผสาน" (2)
หลักการพื้นฐานของระบบเกษตรกรรมแบบผสมผสานมีอยู่อย่างน้อย 2 ประการสำคัญๆ คือ
1) ต้องมีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมเป็นต้นไป โดยการทำการเกษตรทั้งสองกิจกรรมนั้น ต้องทำในพื้นที่และระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นควรประกอบไปด้วยการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ และสามารถผสมผสานระหว่างการปลูกพืชต่างชนิด หรือการเลี้ยงสัตว์ต่างชนิดกันได้
2) การเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมเกษตรต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในระบบเกษตรแบบผสมผสานนั้น เกิดขึ้นทั้งจากวงจรการใช้แร่ธาตุอาหารรวมทั้งอากาศ และพลังงาน เช่น การหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์ให้เป็นประโยชน์กับพืช และให้เศษพืชเป็นอาหารสัตว์ โดยที่กระบวนการใช้ประโยชน์จะเป็นไปทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น ผ่านการหมักของจุลินทรีย์เสียก่อน
ทั้งนี้ ลักษณะการผสมผสานในระบบเกษตร สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
การปลูกพืชแบบผสมผสาน
เป็นการอาศัยหลักการความสัมพันธ์ระหว่างพืช สิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศตามธรรมชาติมาจัดการและปรับใช้ในระบบการเกษตร ตัวอย่างเช่น การปลูกตาลโตนดในนาข้าว การปลูกพริกไทยร่วมกับมะพร้าว การปลูกพืชไร่ผสมกับถั่ว การปลูกทุเรียนร่วมกับสะตอ การปลูกระกำในสวนยาง เป็นต้น โดยที่ยิ่งมีความหลากหลายของพืชปลูกมากเท่าใด ก็จะสามารถเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบมากขึ้นเท่านั้น
การผสมผสานการเลี้ยงสัตว์
หลักการผสมผสานเป็นไปเช่นเดียวกับการผสมผสานระหว่างพืช เนื่องจากสัตว์ชนิดหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กับสัตว์อีกชนิดหนึ่งและเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช และจุลินทรีย์ ตัวอย่างของระบบการผสมผสานการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงหมูควบคู่กับปลา การเลี้ยงเป็ดหรือไก่ร่วมกับปลา การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การผสมผสานการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถสร้างระบบที่สมบูรณ์ ได้เหมือนกับการผสมผสานการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
กาปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์
เป็นรูปแบบการเกษตรที่สอดคล้องกับสมดุลของแร่ธาตุพลังงาน และมีการเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมการผลิตต่างๆ มากขึ้น ใกล้เคียงกับระบบนิเวศตามธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างของระบบการปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงเป็ดในนาข้าว การเลี้ยงหมูและปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชไร่ เป็นต้น
เกษตรกรต้นแบบของเกษตรผสมผสาน (3)
เกษตรกรต้นแบบของเกษตรผสมผสาน คือ "พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย" แห่งบ้านตระแบก ต.สลัดได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ท่านนำประสบการณ์การทำเกษตรแบบยกร่องในภาคกลางเข้ามาปรับใช้ มีการจัดการแหล่งน้ำที่ชาญฉลาด ผสมผสานกิจกรรมการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ให้หลากหลาย อีกทั้งมีการจัดการผลผลิตการเกษตรที่คำนึงถึงสถานการณ์การตลาดที่ดี ประสบการณ์ของท่านสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรทั่วประเทศ เปลี่ยนแปลงการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
บนพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด นอกจากที่นาปลูกข้าว บนพื้นที่ทำกินของพ่อมหาอยู่ประมาณ 60 ไร่ จะมีการทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างประณีต โดยการขุดสระเก็บน้ำและร่องน้ำใช้เลี้ยงปลาและเป็นแหล่งน้ำสำรอง อีกมุมใช้เป็นคอกไว้สำหรับเลี้ยงหมู ซึ่งมูลหมูจะไหลลงไปสู่บ่อปลา พื้นที่ตามคันดินโดยรอบจะปลูกพืชผักสวนครัวและไม่ยืนต้นเป็นร่มเงาให้กับปลา นอกจากนี้ยังสามารถลอกขี้เลนจากบ่อปลาขึ้นมากระจายอยู่ในพื้นที่รอบๆ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์


www.จีพีเอสวัดที่.com
-------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น